Saturday, April 16, 2011

ไขมันชนิดเอชดีแอล : HDL

HDL cholesterol ไขมันชนิดเอชดีแอล : HDL cholesterol (HDL-c)
ชื่อภาษาอังกฤษ HDL cholesterol (HDL-c)
ชื่อภาษาไทย ไขมันชนิดเอชดีแอล
ชื่อหลัก High-density lipoprotein cholesterol
ชื่ออื่น HDL, HDL-C
การทดสอบที่เกี่ยวข้อง Cholesterol, LDL-C, Triglycerides, Lipid profile, Cardiac risk assessment, Lp-PLA2
ความรู้ทั่วไป ตรวจเพื่ออะไร
การตรวจเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (High-density lipoproteins cholesterol: HDL-C) เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
เฮชดีแอล (HDL) เป็นไลโปโปรตีน (lipoprotein) ชนิดหนึ่งที่เล็กที่สุดแต่มีความหนาแน่นสูง มีความสำคัญที่สุด ถูกสร้างจากตับ ลำไส้เล็ก และแตกตัวจากไคโลไมครอนและวีแอลดีแอล (VLDL) หลังจากไตรกลีเซอไรด์ถูกแยกออกไป
เอชดีแอล (HDL) ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลและกรดไขมัน จากส่วนต่างๆ ของร่างกายไปที่ตับเพื่อทำลาย และขับออกจากร่างกายผ่านทางน้ำดี เนื่องจากเอชดีแอล (HDL) ทำหน้าที่กำจัดคอเลสเตอรอลส่วนเกินจึงเรียกว่าเป็นไขมันชนิด “ ดี” มีบทบาทในการป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือด ดังนั้นถ้าแอลดีแอล (LDL) หรือไขมันไม่ดีสูงและมีเอชดีแอล (HDL) ต่ำ จึงเป็นผลให้บุคคลมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
กรณีที่ผู้ป่วยที่มีระดับเอชดีแอล (HDL) ต่ำกว่าปกติจะทำให้มีการสะสมของคอเลสเตอรอลในเนื้อเยื่อและผนังหลอดเลือดมากขึ้น คอเลสเตอรอลส่วนที่เกินความต้องการ แอลดีแอล (LDL) จะนำไปเกาะไว้ตามผนังเส้นเลือดแดง และเมื่อมีการสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เส้นเลือดแดงตีบลง ในที่สุดจะเกิดการอุดตันของเส้นเลือดแดง ทำให้เซลล์บริเวณนั้นขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงทำให้เซลล์ตายซึ่งเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่สำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง (atherosclerosis) และ โรคหัวใจขาดเลือด การเพิ่มระดับเอชดีแอล (HDL) สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้

ตรวจเมื่อใด
การตรวจเอชดีแอล (HDL) อาจสั่งตรวจเพื่อติดตามผลการทดสอบคอเลสเตอรอลที่มีระดับสูงเป็นการตรวจคัดกรอง โดยทั่วไปการตรวจเอชดีแอล (HDL) มักสั่งรวมกับการทดสอบอื่น ๆ เช่น คอเลสเตอรอล, แอลกีแอล (LDL) และไตรกลีเซอร์ไรด์ รวมเรียกว่าชุดไขมันสำหรับตรวจสุขภาพ มีการแนะนำให้ผู้ใหญ่ควรตรวจอย่างน้อย 5 ปี อาจสั่งตรวจบ่อยสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
ผู้ที่สูบบุหรี่
ผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี หรือผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี
มีความดันโลหิตสูง (สูงกว่า 140/90)
มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
เป็นโรคหัวใจ
เป็นโรคเบาหวาน
สำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจไม่จำเป็นต้องสั่งตรวจชุดไขมัน อย่างไรก็ตามมีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองชุดไขมันในเด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงก็คล้ายคลึงกับในผู้ใหญ่นั่นคือ ประวัติครอบครัว, ความดันโลหิตสูง และมีน้ำหนักเกิน สมาคมกุมารเวชของอเมริกา (the American Academy of Pediatrics) แนะให้เด็กที่มีความเสี่ยงอายุระหว่าง 2 ถึง 10 ปีควรตรวจชุดไขมันรวมทั้งเอชดีแอล (HDL) เก็บไว้เป็นประวัติครั้งแรก สำหรับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีอายุน้อยเกินไปที่จะทำการทดสอบ
การตรวจเอชดีแอล (HDL) อาจสั่งตรวจเป็นปกติเพื่อประเมินความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น อดอาหาร ออกกำลังกาย เลิกสูบบุหรี่ สามารถเพิ่มระดับเอชดีแอล (HDL) ได้
สิ่งส่งตรวจที่ต้องใช้
เลือดจากหลอดเลือดดำที่แขน
...................................................................................................................................................
การเพิ่มไขมันชนิดดี (HDL)
ไขมัน HDL คืออะไร
เอ็ชดีแอล (HDL) เป็นโคเลสเตอรอลชนิดดี ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เชื่อว่ามันช่วยในการขนถ่ายโคเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ตามหลอดเลือดออกมาให้ตับทำการเผาผลาญทำลาย การมีระดับ HDL ในร่างกายสูงจึงช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้

ระดับไขมัน HDL เท่าไรจึงถือว่าต่ำ
โครงการศึกษาโคเลสเตอรอลแห่งชาติอเมริกัน (NCEP) กำหนดมาตรฐานระดับของไขมัน HDL ทั้งในชายและหญิง ดังนี้มัน

< 40 mg/dl ถือว่าต่ำ (low) ซึ่งหมายความว่า “ไม่ดี”
40-60 ถือว่าปกติ (normal)
>60 ถือว่าสูง (high) ซึ่งหมายความว่า “ดี”

จะเพิ่มระดับ HDL ในร่างกายได้อย่างไร
วิธีเพิ่มเอ็ชดีแอลในร่างกายทำได้หลายวิธี คือ
(1) ออกกำลังกายแบบแอโรบิก (aerobic) ให้มาก หมายถึงการออกกำลังกายที่มีการใช้แรงงานหนักปานกลาง (พอเหนื่อยจนเหงื่อออก) แล้วต่อเนื่องกันไปนานพอสมควร คือ 5-10 นาทีขึ้นไป เช่น การเดินเร็ว การวิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก เป็นต้น ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกทุกวันถ้าเป็นไปได้ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที และควรออกนานครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเรื่องการออกกำลังกายได้ในบทที่ 4
(2) ลดน้ำหนักไม่ให้อ้วน ด้วยการลดปริมาณอาหารให้พลังงาน ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงานถ้าสูบบุหรี่อยู่ต้องเลิกทันที เพราะบุหรี่ทำให้เอ็ชดีแอลต่ำ
(3) หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เพราะไขมันทรานส์ แม้จะเป็นไขมันไม่อิ่มตัว แต่ก็ถูกแปรรูปโดยการใส่ไฮโดรเจนเข้าไปเพื่อให้แข็งกลายเป็นไข ไขมันทรานส์แตกต่างจากไขมันไม่อิ่มตัวทั่วไป ขณะที่ไขมันไม่อิ่มตัวทั่วไปเช่นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก มีผลดีต่อสุขภาพ ลดอัตราป่วยเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดลง แต่ไขมันทรานส์กลับก่อผลตรงกันข้าม คือทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดเพิ่มขึ้น เพราะไขมันทรานส์ไปเพิ่มระดับไขมันชนิดเลว (LDL) และไปลดระดับไขมันชนิดดี (HDL) อาหารที่มีไขมันทรานส์มากได้แก่ เนยเทียมหรือมาการีนที่ทำจากไขมันทรานส์ ขนมอบหรือเบเกอรีที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบ ครีมเทียม คอฟฟี่เมท อาหารอบ อาหารทอด ขนมกรุบกรอบต่างๆ เป็นต้น ไขมันทรานส์นี้ในเมืองไทยบางครั้งจะเขียนข้างฉลากว่าเป็นไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดธรรมดา เพราะเมืองไทยไม่มีกฎหมายบังคับให้ติดฉลากบอกว่ามีไขมันทรานส์หรือไม่ ผู้บริโภคจึงต้องรู้จักแยกแยะให้ดี
(4) เพิ่มอาหารเส้นใยชนิดละลายได้ อาหารกาก หรืออาหารเส้นใย (fiber) แบ่งออกเป็นสองชนิดคือชนิดไม่ลาย (insoluble) เช่นพืชผักต่างๆ กับชนิดลายได้ (soluble) ซึ่งได้จากธัญพืชทั้งเมล็ด หรือจากส่วนเคลือบรอบนอกเมล็ดของธัญพืชแบบไม่ขัดสี (whole grain) เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง โอ๊ตแบรนด์ ข้าวสาลีแบบโฮลวีท งานวิจัยในอาสาสมัครพบว่าเส้นใยชนิดละลายได้นี้ ช่วยลดไขมัน LDL ลดไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มไขมัน HDL
(5) รับประทานไขมันโอเมก้า 3 ให้มาก ไขมันโอเมก้า 3 มีสามตัว ตัวแรกเรียกว่ากรดอัลฟาไลโนดลอิก (ALA) พบมากในน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันพืชอื่นบางชนิด ตัวที่สองเรียกว่า กรดไอโคสะเปนเตโนอิก (EPA) และตัวที่สามเรียกว่ากรดโดโคซาเฮกเซโนอิก (DHA) ทั้งสองตัวหลังนี้พบมากในน้ำมันปลาทุกชนิด โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำเย็น จึงแนะนำให้รับประทานปลาให้มาก หรือในกรณีที่ไม่ชอบรับประทานปลา แนะนำให้รับประทานน้ำมันปลาชนิดโอเมก้า 3 ซึ่งมีบรรจุเป็นแคปซูลขาย
ขอขอบคุณ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

No comments: