Saturday, April 16, 2011

คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันในเลือดชนิดหนึ่งที่ร่างกายได้มาจากอาหาร และสร้างขึ้นเอง เนื่องจากมีความสำคัญต่อร่างกาย คือ ช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่ดี มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญของสมองและระบบย่อยอาหาร เป็นองค์ประกอบหลักของฮอร์โมนหลายชนิด รวมทั้งมีความจำเป็นในการสังเคราะห์วิตามินดี เป็นต้น
คอเลสเตอรอลเป็นสารประกอบไขมันชนิดหนึ่งจากไขมัน 4 ชนิดที่มีอยู่ในร่างกายของเรา คือ
1. ไตรกลีเซอไรด์ ประกอบด้วย กลีเซอรอล 1 โมเลกุลและกรดไขมัน 3 โมเลกุล จัดเป็นไขมันที่เป็นกลาง ซึ่งถ้าหากใครมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง และมีระดับไลโพโปรตีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDL) น้อยหรือมีไลโพโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) มาก ก็จะทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
2. ฟอสโฟลิพิด เป็นองค์ประกอบหลักของเยื่อหุ้มเซลล์
3. กรดไขมันอิสระ เป็นสารที่ไม่ละลายน้ำ แต่จะถูกขนส่งไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยอาศัยโปรตีนที่เรียกว่า อัลบูมิน (albumin)
4. คอเลสเตอรอล เป็นสารที่ละลายในไขมันและเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนต่างๆ รวมทั้งน้ำดีและวิตามิน คอเลสเตอรอลถูกขนส่งไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยอาศัยโปรตีนที่เรียกว่า ไลโพโปรตีน (lipoprotein) โดยไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ(low density lipoprotein-LDL) ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์อื่นๆ ของร่างกาย ส่วนไลโพโปรตีนความหนาแน่นสูง (High density lipoprotein-HDL) จะทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลจากเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายกลับมาที่ตับ เพื่อกำจัด ดังนั้นคอเลสเตอรอลสามารถแบ่งตามลักษณะการขนส่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (LDL cholesterol) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดเลว และเอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDL cholesterol) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี
คอเลสเตอรอลจัดเป็นปัจจัยเสี่ยง 3 รูปแบบ คือ
1. เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากมีหน่วยพันธุกรรมหรือยีนเป็นตัวกำหนดการผลิตคอเลสเตอรอล
2. เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากสามารถใช้ยาทำให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลงได้
3. เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถลดผลกระทบให้เบาบางลงได้ โดยการรับประทานอาหาร การลดน้ำหนักและการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการเพิ่มคอเลสเตอ รอลชนิดดี (HDL cholesterol) และลดคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL cholesterol)
ปริมาณคอเลสเตอรอลในแต่ละวันจะผันแปรได้ตามชนิดของอาหารที่รับประทาน ความเครียด การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย ฯลฯ ถ้ามีปริมาณคอเลสเตอรอลมากเกินความจำเป็นจะส่งผลให้คอเลสเตอรอลดังกล่าวไปเกาะสะสมอยู่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือดแดง ทำให้ช่องว่างภายในหลอดเลือดเล็กลง จนทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง แขนและขาได้น้อยลง ทำให้เหนื่อยง่าย มีอาการมึนงง ปวดศีรษะ ชาตามมือและเท้า มีความดันโลหิตสูง ตลอดจนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเนื่องจากมีไขมันสะสมที่บริเวณหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดตีบแคบ นอกจากนั้นยังอาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ตีบ ทำให้เกิดอัมพฤกษ์และอัมพาต โรคหลอดเลือดตีบตามแขนขา และโรคหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย ซึ่งข้อสังเกตคือ ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอ้วนเสมอไป คนผอมก็สามารถที่จะเป็นโรคต่างๆ นี้ได้ เพราะการผลิตคอเลสเตอรอลถูกควบคุมโดยกรรมพันธุ์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือสูงเกินค่าปกติได้คือ อาหาร ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้
อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงมี 2 ชนิด คือ ไขมันแข็ง หรือไขมันอิ่มตัว ซึ่งมักได้จากสัตว์ และอาหารประเภทแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต อาหารพวกนี้ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก ๆ แต่ควรบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น การบริโภคไขมันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการกระจายตัวของคอเลสเตอรอลจากพลาสมาเข้าสู่เนื้อเยื่อ เพราะกรดไขมันไม่อิ่มตัวมีผลต่อการนำคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์จึงทำให้มีการสลายตัวของ LDL เพิ่มขึ้น ส่วนกรดไขมันอิ่มตัวจะไปลดการนำคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์
การระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและออกกำลังกายสม่ำเสมอตั้งแต่อายุยังน้อย ประกอบกับการตรวจระดับไขมันในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะเป็นการช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพได้

No comments: