Saturday, April 16, 2011

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อย เป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย
รองจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นสาเหตุตายที่สำคัญ
อัตราการเป็นมะเร็งเต้านม พบมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณว่า 1 ใน 10 ของผู้หญิง
มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมในช่วงหนึ่งของชีวิต
เรื่องมะเร็งเต้านมนี้ น.พ.นพวัชร์ สมานคติวัฒน์ กลุ่มงานศัลยกรรม ร.พ.ราชบุรี บอกว่า ส่วนใหญ่ พบในผู้หญิง ส่วนในผู้ชายก็พบได้ แต่น้อยกว่ามาก
โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุยังน้อย, การหมดประจำเดือนช้า, ไม่มีลูก หรือมีลูกคนแรก เมื่ออายุเกิน 30 ปี,
มีประวัติครอบครัว มีเนื้อเยื่อเต้านมที่ผิดปกติ การรับประทานอาหารไขมันมาก, การดื่มเหล้า ก็เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้พบเพียง 25%
ของผู้ป่วย ขณะที่ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง กล่าวคือผู้หญิงทุกคนล้วนเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้

มะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก จะไม่มีอาการ (สามารถตรวจพบความผิดปกติได้จากการเอกซเรย์เต้านม ที่เรียกว่าแมมโมแกรม) ต่อมาคลำได้เป็นก้อนแข็ง
ระยะแรกเป็นก้อนเล็ก ถ้าทิ้งไว้ก็จะขยายขนาดขึ้น ในที่สุด ก็จะแตกออกมาเป็นแผล ในผู้ป่วยบางคนอาจมาหาแพทย์ด้วยอาการของมะเร็งระยะแพร่กระจาย เช่น
ถ้ากระจายไปที่ปอดก็จะมีอาการไอ หอบเหนื่อย ถ้ากระจายไปที่กระดูก ก็จะมีอาการปวดกระดูก ต้องทำความเข้าใจว่า
1. ก้อนของเต้านม ส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็ง แต่โอกาสเป็นมะเร็งจะมากขึ้น หากอายุมากขึ้น (จากสถิติ ก้อนที่เต้านมทุกช่วงอายุ
พบมะเร็ง 15-20% หากอายุน้อยกว่า 30 ปี พบมะเร็งเพียง 1.5% หากอายุเกิน 50 ปี พบถึง 60%)
2. ก้อนที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ (พบเพียง 15% ที่มีอาการเจ็บ) ซึ่งทำให้คนไข้เข้าใจผิดคิดว่าไม่เจ็บคงไม่ใช่มะเร็ง
แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ เมื่อพบว่ามีก้อนที่เต้านมจึงควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยจากแพทย์เสมอ
การรักษาหลักของมะเร็งเต้านม คือ การผ่าตัด อาจร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง หรือการให้ยาฮอร์โมน มะเร็งเต้านม
หากรักษาในระยะแรกสามารถให้การรักษาจนหายขาดได้ แต่หากปล่อยไว้จนเป็นมาก ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ (มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกา)
เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเต้านม และผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการค้นพบให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่างคือ
1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง : แนะนำให้เริ่มตรวจเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจเป็นประจำทุกเดือน
2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ : แนะนำในอายุ 20-40 ปี ควรตรวจทุก 3 ปี อายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจทุกปี
3. การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม : ควรเริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี
การตรวจเต้านมด้วยตนเองนับเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยเรื่องก้อนที่เต้านมโดย 80-90% ของก้อน ผู้ป่วยคลำพบเองหากไม่เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองเลย ก้อนที่พบมักจะมีขนาดใหญ่ ประมาณ 3-5 ซ.ม. หรือมากกว่าหากเคยตรวจบ้างเป็นครั้งคราว ก้อนมักมีขนาด 2-3 ซ.ม.หากตรวจประจำทุกเดือน อาจพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาด 1-2 ซ.ม. หรือเล็กกว่า มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มีความเชื่อบางประการที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และควรได้รับการแก้ไข ดังนี้ หลักง่ายๆ ของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ ให้เริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจเป็นประจำทุกเดือน ในช่วงหลังหมดประจำเดือนแล้ว 7-10 วัน
ซึ่งเป็นช่วงที่เต้านมไม่มีการคัดตึง เริ่มจากการยืนหน้ากระจก เพื่อดูความผิดปกติ จากนั้นจึงใช้ส่วนปลายของฝ่านิ้วมือ 3 นิ้ว คือ ชี้ กลาง นาง กดคลำให้ทั่วเต้านม ในท่านอน และท่ายืน
แล้วคุณล่ะ เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองบ้างหรือยัง
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2544

No comments: