Saturday, April 16, 2011

โรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยที่เป็นโรค นี้จะมีผนังหลอดเลือดหัวใจตีบตันเนื่องจากการเกาะตัวของเกล็ดเลือด
(platelet aggregation) ในรายที่มีอาการรุนแรง
จะเสียชีวิตเฉียบพลันหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ปัจจุบันแพทย์นิยมให้ยาละลายเกล็ดเลือด เช่น aspirin, ibuprofen และ heparin เพื่อลดการอุดตันในหลอดเลือด

เมื่อเกิดบาดแผลฉีกขาดมีเลือดออก สักครู่เลือดจะแข็งตัวและหยุดไหลได้เองซึ่งเป็นการรักษาตัวเองตามธรรมชาติ ผู้ที่สูญเสียกลไกนี้ไปจะมีอาการเลือดออกผิดปกติหรือเลือดแข็งตัวช้านั่นเอง
ทางตรงกันข้ามผู้ป่วยบางคนกลับมีเลือดแข็งตัวผิดปกติจนเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสำคัญๆ ของร่างกาย การห้ามเลือดเป็นขบวนการทางชีวเคมีที่สำคัญของร่างกายเพื่อควบคุมให้เลือดคง
สภาพเป็นของเหลวไหลเวียนเป็นปกติอยู่ภายในหลอดเลือด และเปลี่ยนสภาพเป็นลิ่มเลือด เพื่อให้เลือดหยุดเมื่อมีการทำลายของหลอดเลือด ทั้งนี้จะต้องอาศัยความสมดุลระหว่าง 2 ขบวนการสำคัญ ได้แก่
ขบวนการแข็งเป็นลิ่มของเลือด และขบวนการสลายลิ่มเลือด การควบคุมการไหลเวียนเลือดให้เป็นปกตินั้น ประกอบด้วยระบบการทำงานที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ ระบบหลอดเลือดและการซ่อมแซมในตำแหน่งที่
ได้รับอันตราย ระบบเกล็ดเลือด การสร้างลิ่มเลือดและระบบควบคุม การสลายลิ่มเลือดและระบบควบคุม ขบวนการเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกันเป็นระบบจึงจะมีประสิทธิภาพ และต้องอยู่ในภาวะสมดุล
ถ้าเกิดการเสียสมดุลจะทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น ถ้าเกิดการเสียสมดุลของการทำงานของระบบห้ามเลือด ก็จะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ หรือ มีภาวะการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดได้

โครงสร้างของหลอดเลือดแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ชั้นในประกอบไปด้วยเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดที่เรียงตัวเป็นชั้นเดียวยึดติดกัน ทำหน้าที่สร้างและปล่อยสารต่างๆ
เข้าสู่กระแสเลือด และกั้นไม่ให้เลือดและส่วนประกอบของเลือดออกไปนอกหลอดเลือด ชั้นกลางประกอบไปด้วยเซลล์กล้ามเนื้อเรียบเป็นส่วนใหญ่ และความหนาของชั้นนี้จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของหลอดเลือด ชั้นนอกประกอบไปด้วยเยื่ออีลาสติกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ที่สำคัญคือคอลลาเจน อีลาสติน และไมโครไฟบริล ในภาวะปกติ หลอดเลือดจะมีส่วนสำคัญในการควบคุมเลือดให้ไหลเวียนอยู่ในหลอดเลือดได้อย่างปกติ โดยจะมีหน้าที่ควบคุมการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนภายในระบบไหลเวียนเลือดได้อย่างปกติ ทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดผ่านออกไปนอกหลอดเลือด จากการที่ผนังของหลอดเลือดมีความแข็งแรง ทำให้เลือดไม่สามารถซึมออกนอกหลอดเลือดได้ ชั้นที่ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ไม่เปราะแตกง่าย คือ ชั้นนอก หลอดเลือดกั้นไม่ให้โปรตีนที่ใช้ในขบวนการแข็งตัวของเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดถูกกระตุ้น และสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการเกาะกันของเกล็ดเลือดและการแข็งเป็นลิ่มของเลือด เมื่อหลอดเลือดได้รับอันตราย เกิดการฉีกขาดและเกิดรอยรั่ว หลอดเลือดจะหดตัว เป็นการจำกัดจำนวนเลือดไม่ให้สูญเสียออกไป ขบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทันทีที่หลอดเลือดได้รับอันตราย และถูกควบคุมโดยระบบประสาทและฮอร์โมน

ระบบเกล็ดเลือด (Platelet)
เกล็ดเลือดที่อยู่ในระบบไหลเวียนเลือดของร่างกาย มีรูปร่างกลม ขนาด 1.5-3 นาโนเมตร เป็นเซลล์ที่ไม่มีนิวเคลียส สร้างมาจากซัยโตพลาสซึมของเซลล์เมกะคาริโอซัยท์ มีอายุประมาณ 9-10 วัน ในระบบไหลเวียนเลือด ในคนปกติจะมีประมาณ 150-400 พันล้านตัวต่อเลือด 1 ลิตร ประมาณหนึ่งในสามของเกล็ดเลือดจะอยู่ในม้าม ในภาวะปกติเกล็ดเลือดจะลอยอยู่ในกระแสเลือด ไม่เกาะกันเอง หรือกับเซลล์เม็ดเลือดอื่นๆ และไม่เกาะติดกับผนังของหลอดเลือด โครงสร้างของเกล็ดเลือดจะแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ ส่วนนอก ส่วนสารเจล และส่วนอวัยวะชิ้นย่อย

ส่วนนอกประกอบด้วยเยื่อหุ้มเกล็ดเลือด ประกอบด้วยเยื่อบุชั้นนอกที่มีกลัยโคโปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ และประกอบเป็นโปรตีนตัวรับเกล็ดเลือดชนิดต่างๆ โปรตีนเหล่านี้ทำให้เกล็ดเลือดมีประจุลบ ซึ่งเป็นแรงผลัก ทำให้เกล็ดเลือดไม่เกาะกันเอง และไม่เกาะกับเยื่อบุหลอดเลือดที่ไม่ฉีกขาด ส่วนเยื่อบุที่อยู่ใต้ชั้นนอกประกอบไปด้วยสารไขมันฟอสโฟไลปิด มีความสำคัญโดยเป็นพื้นผิวสำหรับปฏิกิริยาของขบวนการแข็งเป็นลิ่มของเลือด สำหรับส่วนสารเจลเป็นส่วนของซัยโตพลาสซึมของเกล็ดเลือด ประกอบไปด้วยเส้นใยต่างๆ และทำให้เกล็ดเลือดคงรูปร่างอยู่ได้ ที่สำคัญได้แก่ ไมโครทูบุลและไมโครฟิลาเมนท์ รวมทั้งระบบท่อเล็กที่มีสาร ADP และแคลเซียมประกอบอยู่ โปรตีนที่ทำหน้าที่ในการยืดหดตัวคือ thrombosthenin มีลักษณะคล้ายกับโปรตีน actomyosin ส่วนสารเจลประกอบด้วยโปรตีนร้อยละ 30-50 ของโปรตีนในเกล็ดเลือดทั้งหมด ทำหน้าที่สำคัญในการเกิดรูปร่างเฉพาะ ส่วนขาเทียม และกระบวนการหลั่งสารของเกล็ดเลือด

ส่วนอวัยวะชิ้นย่อยประกอบไปด้วยแกรนูลชนิด dense granules ไมโตคอนเดรีย ลัยโซโซม เพอรอกซิโซม และออร์แกนเนลอื่นๆ ทั้งยังเป็นแหล่งเก็บสารและเอนไซม์ต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งที่มีเมตะบอลิสมของสารต่างๆ แกรนูลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 300-500 นาโนเมตร ประกอบไปด้วยโปรตีนและกลัยโคโปรตีนหลายชนิด เกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยในการห้ามเลือด โดยเสริมความแข็งแรงของหลอดเลือด ทำให้เม็ดเลือดไม่สามารถลอดแทรกผนังหลอดเลือดออกมาภายนอกหลอดเลือดได้ และเมื่อหลอดเลือดได้รับอันตราย เกล็ดเลือดจะรวมตัวกันสร้างชิ้นส่วนมาอุดตรงบริเวณหลอดเลือดที่มีการฉีกขาด ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในสองอันแรกของร่างกายที่จะทำให้เลือดหยุดไหล
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ

No comments: